โครงสร้างของแบตเตอรี่รถยนต์นั้นอาจแยกได้เป็น 2 แบบ คือ โครงสร้างภายนอก สามารถมองเห็นได้ทันที และโครงสร้างภายใน สามารถมองเห็นได้เช่นกันด้วยการเปิดจุกออก โดยเรามาอธิบายกันละเอียดได้ดังนี้

โครงสร้างภายนอกแบตเตอรี่รถยนต์

  • เปลือกนอก ประกอบด้วยส่วนของเปลือกนอกตัวแบตเตอรี่และส่วนฝาปิดด้านบน ทำจากวัสดุพลาสติกอ่อน(PP.) ทั้ง 2 ส่วนเหมือนกัน จะถูกเชื่อมติดกันด้วยวิธีใช้ความร้อนละลายพลาสติกทั้งส่วนของเปลือกและฝา แล้วนำมาประกบติดกันให้พลาสติกเชื่อมติดกันแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ตัวเปลือกด้านนอกทำลวดลายบอกยี่ห้อ และลวดลายความสวยงามตามรุ่น ด้านในแบ่งเป็นช่องๆ 3 ช่อง(3 เซลล์) หรือ 6 ช่อง(6 เซลล์) ตามแบตเตอรี่ขนาด 6 โวลต์ หรือ 12 โวลต์ ตามลำดับ
  • ขั้วแบตเตอรี่ อยู่ปลาย 2 ด้านของแบตเตอรี่ แบ่งเป็นอันนึงขั้วบวก(+) และอีกอันขั้วลบ(-) เป็นส่วนที่ให้กระแสไฟผ่าน
  • ฝาจุกระบายอากาศ เป็นฝาจุกที่ปิดช่องสำหรับเติมน้ำกลั่น ทำจากวัสดุพลาสติก มีหน้าที่แยกแก๊สออกจากไอน้ำกรด โดยส่วนที่เป็นแก๊สจะถูกระบายออกทางรูระบายเล็กๆ ที่เจาะอยู่ที่ฝาจุก ส่วนน้ำกรดก็ไหลกลับคืนสู่ช่องเซลล์ดังเดิม แต่มีแบตเตอรี่บางรุ่นถูกออกแบบมาไม่มีช่องปิดฝาจุกนี้ แก๊สก็จะถูกระบายออกทางท่อระบายแทน

โครงสร้างภายในแบตเตอรี่รถยนต์

  • แผ่นธาตุ คุณภาพของแบตเตอรี่ปัจจัยหลักก็มาจากแผ่นธาตุนี่เอง จะแบ่งเป็นแผ่นธาตุบวก(+) และแผ่นธาตุลบ(-) โครงสร้างของแผ่นธาตุจะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับพลวงเคลือบด้วยผงตะกั่ว ซึ่งเรียกว่าสารที่ทำปฏิกิริยา(Active Material) สำหรับในแผ่นธาตุบวกสารที่ทำปฏิกิริยาที่ใช้ชื่อว่า เลดเปอร์ออกไซด์(LEAD PEROXIDE) มีสีน้ำตาล สำหรับแผ่นธาตุลบจะใช้ตะกั่วพรุน มีสีเทา โดยทั้ง 2 จะมีลักษณะพรุน น้ำกรดสามารถซึมแทรกเข้าไปได้ และจะทำปฏิกิริยาทางเคมีกันขณะที่อัดไฟเข้าหรือจ่ายไฟออก
  • แผ่นกั้น เป็นแผ่นกั้นระหว่างแผ่นธาตุบวก(+) และแผ่นธาตุลบ(-) มีคุณสมบัติไม่นำไฟฟ้ามีลักษณะพรุน ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้แผ่นธาตุบวกและลบมากระทบกัน อาจทำจากวัสดุหลากหลายแล้วแต่เลือกใช้ เช่น กระดาษ ไม้ ยางพรุน หรือพลาสติก
  • ใยแก้ว เป็นตัวช่วยให้แผ่นธาตุบวกยึดกัน เนื่องจากแผ่นธาตุบวกมีความเปราะหลุดร่วงได้ง่าย ใยแก้วจึงช่วยให้อายุการใช้งานของแผ่นธาตุบวกยาวนานขึ้นพอๆ กับอายุการใช้งานของแผ่นธาตุลบ นอกจากนี้ใยแก้วยังช่วยให้แผ่นกั้นมีอายุใช้งานนานขึ้นด้วย
  • สะพานไฟ เนื่องจากโครงสร้างภายในแบตเตอรี่รถยนต์แบ่งเป็นช่องๆ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ 12 โวลต์ จะมี 6 ช่อง(6 เซลล์) แต่ละเซลล์มีค่า 2 โวลต์ ดังนั้นสะพานไฟเป็นตัวเชื่อมระหว่างเซลล์แต่ละเซลล์แบบอันดับ(Series) ส่วนมากทำด้วยวัสดุนำไฟฟ้าโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับพลวง
  • น้ำกรดกำมะถัน เป็นสารละลายกรดกำมะถึนชนิดเจือจาง มีความเข้มข้นที่วัดได้จากค่าความถ่วงจำเพาะ(ถ.พ.) ประมาณ 1.240-1.260 สำหรับแบตเตอรี่ชนิดธรรมดา(Conventional) และ 1.280 สำหรับแบตเตอรี่ชนิดพร้อมใช้(Maintenance Free)

ขอบคุณข้อมูลความรู้จากงานสัมนากับบริษัท GS BATTERY