พิมพ์

ประเภทต่างๆ ของแบตเตอรี่รถยนต์ จะแยกประเภทตามลักษณะโครงสร้างของแบตเตอรี่ได้เป็น ประเภทธรรมดา(CONVENTIONAL หรือเรียกกันว่าแบตน้ำ) ประเภทไฮบริด(HYBRID) และประเภทพร้อมใช้ไม่ต้องดูแล(MAINTENANCE FREE หรือเรียกกันว่าแบตแห้ง) ซึ่งทุกคนคงรู้จักกันดีว่าแบตแห้งหรือแบตน้ำคืออะไร แต่แล้วทำไมถึงแยกว่าอันนั้นหรืออันนี้เป็นแบตเตอรี่ประเภทไหน เรามาเจาะลึกกันกว่านั้นกันดีกว่า

  1. ประเภทธรรมดา (CONVENTIONAL) แบตเตอรี่ประเภทนี้โครงสร้างแผ่นธาตุที่ใช้จะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับพลวง เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป โดยต้องหมั่นตรวจเช็คระดับน้ำกรดภายในแบตเตอรี่เป็นประจำ และต้องคอยเติมน้ำกลั่นชดเชยให้ได้ระดับที่ลดลงไปให้ได้ระดับที่เหมาะสม (ดูวิธีการเติมน้ำกลั่นได้จาก >> วิธีดูแลน้ำกรดแบตเตอรี่) เพื่อไม่ให้ระดับน้ำกรดต่ำกว่าเส้นบอกระดับล่าง (LOWER LEVEL) ปัจจุบันได้รับความนิยมลดลงในผู้ใช้รถยนต์บ้านๆ ทั่วๆ ไป เพราะต้องคอยดูแลบ่อยๆ แต่ก็ยังคงใช้กันเพราะเหมาะกับการใช้งานหนัก เช่น รถที่ใช้งานบรรทุกประจำ รถโดยสารต่างๆ เป็นต้น
  2. ประเภทไฮบริด (HYBRID) แบตเตอรี่ประเภทนี้โครงสร้างแผ่นธาตุบวก(+) เหมือนประเภทธรรมดา แต่โครงสร้างแผ่นธาตุลบ(-) จะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับแคลเซียม อายุการใช้งานเท่าๆ กับแบตเตอรี่ประเภทธรรมดา แต่แบตเตอรี่ประเภทนี้มีการสูญเสียน้ำน้อยกว่าประเภทธรรมดา จึงไม่ต้องกังวลกับการดูแลน้ำกรดมาก สามารถใช้ได้จนถึง 15,000 กม. จึงเติมน้ำกลั่น จึงสามารถเติมน้ำกลั่นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หลังจากใช้งานไปได้ประมาณ 5,000 หรือ 10,000 กม.ได้ มีคุณสมบัติเหมาะใช้งานกับรถใช้งานหนัก รถใช้งานบรรทุก รถโดยสาร เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ประเภทธรรมดา
  3. ประเภทพร้อมใช้ไม่ต้องดูแล (MAINTENANCE FREE) แบตเตอรี่ประเภทนี้โครงสร้างแผ่นธาตุที่ใช้จะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับแคลเซียมทั้งแผ่นธาตุบวก(+) และแผ่นธาตุลบ(-) มีคุณสมบัติดีกว่าประเภทไฮบริด(HYBRID) คือไม่ต้องดูแลน้ำกรดไม่ต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งาน (แต่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน อากาศค่อนข้างร้อนจัดตลอดปี จึงเป็นการดีที่จะดูแลเติมน้ำกลั่นประมาณ 5-6 เดือนครั้ง เพราะในสภาพอากาศที่ร้อนแบบเมืองไทย ระดับน้ำกรดอาจลดลงได้) แต่แบตเตอรี่ประเภทนี้ก็มีข้อด้วยกว่าในเรื่องความทนทานในการใช้งานหนัก เมื่อต้องจ่ายกระแสไฟมาก(DEEP DYCLE-HEAVY DUTY)(หมายเหตุ ไม่ได้หมายความว่าอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ประเภทนี้น้อยกว่า 2 ประเภทแรก แต่หมายถึง ทนทานน้อยกว่าถ้านำไปใช้งานกับรถยนต์ที่มีลักษณะใช้งานหนักๆ) จึงไม่เหมาะกับรถใช้งานบรรทุก รถโดยสาร รถรับจ้าง แต่เหมาะและใช้งานได้ทนทานไม่ต้องดูแลกับรถใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วๆ ไป

ขอขอบคุณข้อมูลจากการสัมนาของ GS BATTERY